คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการขอวีซ่าเชงเก้น ประเภทวีซ่าท่องเที่ยว

 

 

 

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการขอวีซ่าเชงเก้น : ประเภทวีซ่าท่องเที่ยว

Q : มีหลักการอย่างไรเพื่อจะทราบว่าแผนการเดินทางนี้จะต้องขอวีซ่าเชงเก้นที่ประเทศใด?
A : อันดับแรกให้พิจารณาว่าจำนวนคืนที่นอนค้างอยู่ที่ประเทศใดนานที่สุด ถ้าประเทศใดมีจำนวนวันค้างคืนมากที่สุด ให้ขอวีซ่าที่ประเทศนั้น แต่ถ้าเดินทางหลายประเทศแล้วจำนวนนอนค้างคืนนอนเท่าๆกัน หรือไม่ชัดเจนว่าอยู่ที่ใดนานที่สุด ให้ขอวีซ่าที่ประเทศแรกที่เดินทางไปถึงหรือที่นอนค้างพำนักเป็นคืนแรก

 

Q: ไม่แน่ใจว่าวีซ่าจะผ่านหรือไม่ เลยไม่กล้าซื้อตั๋วเครื่องบินล่วงหน้า ทำอย่างไรดี?
A : ใบจองตั๋วเครื่องบินภาษาอังกฤษ ยังไม่จำเป็นต้องซื้อ เป็นแต่เพียงใบจองก็พอ

 

Q: จะต้องแปลเอกสารอะไรบ้าง?
A : แปลใบสมรส, ใบหย่า, ใบเปลี่ยนชื่อ ใบเปลี่ยนนามสกุล, สูติบัตรและทะเบียนบ้านสำหรับผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี, หนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์ออกนอกประเทศกรณีบิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ไปด้วย, หนังสือรับรองบริษัทหน้าแรกที่มีชื่อกรรมการบริษัท,ใบทะเบียนการค้าพาณิชย์ (สำหรับการแปลทะเบียนบ้าน เฉพาะผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี หรือผู้ใหญ่ที่ต้องการยื่นเพิ่มเพื่อโชว์หลักฐานความสัมพันธ์)

 

Q: หลักฐานการเงินที่ต้องใช้ในการสมัครวีซ่า ต้องทำอย่างไรบ้าง?
A : หลักฐานการเงินสำหรับวีซ่าท่องเที่ยว ใช้บัญชีส่วนตัวประเภทออมทรัพย์เท่านั้น ไม่สามารถใช้บัญชีบริษัท, บัญชีเงินฝากประจำ หรือกระแสรายวัน โดยจะต้องใช้ทั้ง 2 อย่าง คือ 1. หนังสือรับรองบัญชีภาษาอังกฤษเพื่อแสดงยอดเงินคงเหลือในบัญชี ออกโดยธนาคารไม่เกิน 7 วันก่อนวันทำวีซ่า 2. สเตดเม้นท์ธนาคารภาษาอังกฤษ ย้อนหลัง 6 เดือน ออกโดยธนาคาร (ชื่อเจ้าของบัญชีจะต้องเป็นภาษาอังกฤษ) ออกโดยธนาคารไม่เกิน 7 วันก่อนวันทำวีซ่า มีวงเงินเพียงพอสำหรับเดินทางท่องเที่ยวในทริปนั้นๆ เช่น 50,000 - 300,000 บาท/ท่าน แล้วแต่ทริปที่เดินทางมากหรือน้อยวัน (ในวันทำวีซ่า ให้ถือสมุดบัญชีธนาคารเล่มจริงที่อัพเดตยอดเงินคงเหลือล่าสุดติดมาด้วย เผื่อเจ้าหน้าที่ขอดู) /วีซ่าบางประเทศ สามารถยื่นสเตดเม้นท์ออนไลน์ได้ โปรดเช็คกับศูนย์ยื่นวีซ่าหรือสถานทูตอีกครั้ง

 

Q: ถ้าไม่มีหลักฐานการเงิน ไม่มีสเตดเม้นท์ทำอย่างไรดี?
A : สามารถใช้หลักฐานการเงินของบิดา มารดา สามี ภรรยา แทนได้ เรียกว่าหาผู้ที่เป็นสปอนเซอร์ที่เป็นบุคคลภายในครอบครัว กรณีมีผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้เจ้าของบัญชีหลักที่เป็นผู้สปอนเซอร์ พิมพ์หนังสือรับรองเป็นผู้ sponsor เป็นภาษาอังกฤษด้วยตนเองว่าจะเป็นผู้สปอนเซอร์การเดินทาง ระบุความสัมพันธ์ และแนบสำเนาหลักฐานการเงิน 2 อย่างของผู้สปอนเซอร์ พร้อมเซ็นต์รับรองสำเนาถูกต้อง (ผู้เป็นสปอนเซอร์ ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่สถานทูต) - - อย่าลืมแนบสำเนาหน้าพาสปอร์ตของผู้ที่สปอนเซอร์ (เซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง) พร้อมกับแนบเอกสารที่ระบุความสัมพันธ์พร้อมใบแปล เช่น ใบสมรส หรือทะเบียนบ้าน - - กรณีสมรส แต่ไม่ได้จดทะเบียน ให้ยื่นสูติบัตรลูก หรือให้ทำหนังสือชี้แจงเป็นภาษาอังกฤษ และเซ็นชื่อในหนังสือทั้งสองท่าน

 

Q : ไม่มีหลักฐานการทำงานเพราะทำอาชีพอิสระ ทำอย่างไรดี?

A : กรณีประกอบอาชีพอิสระ ให้ทำหนังสือชี้แจงเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อชี้แจงที่มาของรายได้ พร้อมแนบหลักฐานอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ทะเบียนหุ้น /รูปถ่ายร้านค้า

 

Q : กรณีเป็นแม่บ้าน ไม่มีที่มาของรายได้ ไม่มีหลักฐานการเงิน ไม่มีสเตดเม้นท์ของตัวเองทำอย่างไรดี?

A : กรณีเป็นแม่บ้าน ไม่มีที่มาของรายได้ ให้ใช้สำเนาหลักฐานการเงินของสามียื่นแทนหลักฐานการเงินของตัวเอง พร้อมแนบจดหมาย sponspr ภาษาอังกฤษจากสามีที่แจ้งจะรับรองค่าใช้จ่ายภรรยา พร้อมแนบสำเนาหน้าพาสปอร์ตของสามี และหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ เช่น สำเนาทะเบียนสมรส (เอกสารจะต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษ) หรือหากไม่ได้จดทะเบียนสมรส ให้ยื่นสูติบัตรของลูกหรือทะเบียนบ้านของลูกแทน เพราะจะมีชื่อบิดากับมารดาในเอกสารของลูก (เอกสารจะต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษ) / ผู้สปอนเซอร์อย่าลืมเซ็นต์รับรองสำเนาถูกต้องในเอกสารสำเนาทุกใบ

 

Q : ถ้าบุตรซึ่งเป็นผู้เยาว์ เดินทางไปต่างประเทศกับญาติ โดยที่บิดากับมารดาไม่ได้เดินทางไปด้วย หรือบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งไม่ได้เดินทางไปด้วย มีขั้นตอนทำวีซ่าอย่างไร?

A : กรณีผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 20 ปี ถ้าไม่ได้เดินทางกับบิดากับมารดาทั้ง 2 คน จะต้องให้บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งที่ไม่ได้เดินทางไปด้วยลงชื่ออนุญาตต่อหน้าเจ้าหน้าที่เพื่อทำหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์ออกนอกราชอาณาจักร โดยเอกสารนี้จะต้องระบุชื่อ-นามสกุลของผู้ปกครองที่เป็นผู้พาผู้เยาว์ออกนอกราชอาณาจักร (เอกสารนี้จะต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษ) /กรณีผู้เยาว์เดินทางออกนอกประเทศกับญาติ ซึ่งไม่มีทั้งบิดา-มารดาเดินทางไปด้วย ในเอกสารหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์ออกนอกราชอาณาจักรจะต้องมีชื่อบิดากับมารดาทั้ง 2 คนลงชื่อต่อหน้าเจ้าหน้าที่ในหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์ออกนอกประเทศ ซึ่งจะต้องระบุชื่อ-นามสกุลของผู้ที่พาผู้เยาว์ออกนอกประเทศ และระบุความสัมพันธ์กับผู้เยาว์ว่าบุคคลนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับผู้เยาว์ และแนบสำเนาหน้าบัตรประชาชนของบิดา-มารดา ไปพร้อมกับเอกสารยินยอมนี้ อย่าลืมเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง (สามารถขอเอกสารนี้ได้ที่สำนักงานเขตในพื้นที่ทะเบียนบ้านของผู้เยาว์อาศัยอยู่ หากอยู่ต่างจังหวัดให้ขอที่เทศบาลหรือที่ว่าการอำเภอในพื้นที่ตามทะเบียนบ้านของผู้เยาว์)

 

Q : ให้คนอื่นไปรับพาสปอร์ตแทนหลังรู้ผลวีซ่าได้หรือไม่?

A : หลังจากวีซ่าออกแล้ว ทำใบมอบอำนาจกรณีให้ผู้อื่นไปรับแทน / เขียนเป็นภาษาอังกฤษ แนบสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบและผู้รับมอบ เซ็นต์สำเนารับรองเอกสารให้ถูกต้อง / วันไปรับเจ้าหน้าที่อาจขอดูบัตรประชาชนจริงของผู้รับ ให้เตรียมไปด้วย อย่าลืมใบเสร็จรับเงินจากสถานทูตที่ได้รับตอนยื่นขอวีซ่าเพื่อเป็นหลักฐานวันมารับเล่มวีซ่า โปรดทราบว่าทุกท่าน ต้องทำแยกคนละ 1 ชุด ห้ามรวมกัน

 

Q : การทำประกันเดินทางรายบุคคลเพื่อใช้ในการยื่นวีซ่า ซื้อแบบใดจึงถูกต้อง?

A: ทำประกันการเดินทางรายบุคคลแบบ worldwideหรือแบบเชงเก้น ได้ทั้งสองแบบ เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่แบบเชงเก้นจะราคาถูกกว่า ให้ซื้อจำนวนวันครอบคลุมตั้งแต่วันที่บินออกจากประเทศไทยจนถึงวันที่บินกลับถึงประเทศไทย ให้ซื้อแบบมีวงเงินประกันการรักษาพยาบาล/เสียชีวิต ทุพพลภาพ/เคลื่อนย้ายศพ ขั้นต่ำสามหมื่นยูโร หรือขั้นต่ำ1.5 ล้านบาท

 

 Text by Vava

Ampha Kaewsaengtham
สงวนลิขสิทธิ์บทความโดย อำภา แก้วแสงธรรม

 

 

บริการทำวีซ่าเชงเก้น วีซ่าท่องเที่ยว

 โดย อำภา แก้วแสงธรรม (วา)

 โทร. 063-9155199

Line : seeyouagainthailand

 คลิกลิงค์แอดไลน์ที่นี่ค่ะ http://line.me/ti/p/~seeyouagainthailand

 

ประกันสุขภาพคุ้มครองโรคโควิด19 สำหรับชาวต่างชาติใช้เข้าไทยเพื่อขอใบ COE

ต้องซื้อแบบไหน?

 คลิกที่นี่ค่ะ http://www.seeyouagain-europe.com/view.aspx?id=1130#